ความหมายของสหกิจศึกษา

           สหกิจศึกษา (Cooperative Education)  เป็นระบบการศึกษาที่จัดให้มีการเรียนการสอนในสถานศึกษาสลับกับการไปหาประสบการณ์ตรงจากการปฏิบัติงานจริง  ณ  สถานประกอบการอย่างมีระบบ ด้วยความร่วมมือจากสถานประกอบการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นระบบการศึกษาที่ผสมผสานการเรียนกับการปฏิบัติงาน  (Work Integrated  Learning)  ดังแผนภูมิ
 
วัตถุประสงค์ของสหกิจศึกษา 

1.  เตรียมความพร้อมของนักศึกษา  ด้านการพัฒนาอาชีพ  (Career Development)  เสริมทักษะ และประสบการณ์ให้พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการทำงาน

2.  เพิ่มเติมประสบการณ์ทางด้านวิชาการ  วิชาชีพ  และการพัฒนาตนเองแก่นักศึกษาในรูปแบบที่มีคุณค่าเหนือกว่าการฝึกงาน

3.  เปิดโอกาสให้สถานประกอบการทั้งภาคเอกชน  และภาครัฐได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต

4.  ให้เกิดการพัฒนาหลักสูตร  และการเรียนการสอนที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากยิ่งขึ้น

5.  สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถานประกอบการ   และสถาบันอุดมศึกษาผ่านนักศึกษาสหกิจศึกษาและคณาจารย์นิเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือที่กว้างขวางยิ่งขึ้น 

ลักษณะงานสหกิจศึกษา

1.  นักศึกษาออกปฏิบัติงาน ณ สถานประกอบการ เสมือนหนึ่งลูกจ้างชั่วคราวของสถานประกอบการในตำแหน่งผู้ช่วยงานหรืออื่นๆ ตามความเหมาะสมกับความรู้ความสามารถของนักศึกษาและตรงตามสาขาวิชาที่นักศึกษากำลังศึกษา

2.  ในระหว่างปฏิบัติงาน  นักศึกษาต้องปฏิบัติตนตามระเบียบการบริหารงานบุคคลของสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด

3. นักศึกษามีหน้าที่รับผิดชอบในงานที่สถานประกอบการ ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนและเป็นงานที่คณะกรรมการสหกิจศึกษาให้ความเห็นชอบว่า มีคุณภาพเหมาะสมกับความรู้  ความสามารถของนักศึกษา

4.  นักศึกษาต้องปฏิบัติงานเต็มเวลา  ตามที่สถานประกอบการกำหนด

5.  นักศึกษาอาจได้รับค่าตอบแทนตามความเหมาะสม

6.  กรณีเป็นนักศึกษาภาคสมทบ หากนักศึกษามีงานประจำทำอยู่แล้วให้นักศึกษาประสานงานกับสถานประกอบการ เสนอหัวข้อลักษณะงานที่นักศึกษาปฏิบัติอยู่ หรือต้องให้นักศึกษาปฏิบัติงานเพิ่มเติม ซึ่งสอดคล้องกับสาขาวิชาที่นักศึกษากำลังศึกษาโดยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสหกิจศึกษา

ประโยชน์ของสหกิจศึกษา
ประโยชน์ต่อนักศึกษา

1.  ได้รับประสบการณ์วิชาชีพตรงตามสาขาวิชาที่เรียนเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากการเรียนในห้องเรียน

2.  ส่งผลให้มีผลการเรียนดีขึ้นภายหลังการปฏิบัติงานเนื่องด้วยมีความเข้าใจเนื้อหามากขึ้น

3.  เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกับผู้อื่นความรับผิดชอบและความมั่นใจในตนเองมากขึ้น  ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่พึงประสงค์ของสถานประกอบการ

4.  เกิดทักษะการสื่อสารและการรายงานข้อมูล

5.  สามารถเลือกสายงานอาชีพได้ถูกต้อง

6.  สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพ  และความพร้อมในการทำงานสูง  และมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา

ประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษา

1.  เกิดความร่วมมือทางวิชาการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานประกอบการ

2.  ได้รับข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนการสอน

3.  ช่วยให้สถานศึกษาได้รับการยอมรับจากตลาดแรงงาน

ประโยชน์ต่อสถานประกอบการ

1.  มีนักศึกษาช่วยปฏิบัติงานที่มีประโยชน์กับสถานประกอบการตลอดทั้งปี

2.  พนักงานประจำมีเวลามากขึ้นที่จะปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นที่มีความสำคัญกว่า

3.  เกิดความร่วมมือทางวิชาการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสถานศึกษาช่วยพัฒนาบัณฑิตของชาติ

4.  เป็นวิธีการช่วยคัดเลือกนักศึกษาเข้าเป็นพนักงานประจำในอนาคตด้วยโดยไม่จำเป็นต้องมีการทดลองงาน 

  • ผลสัมฤทธิ์ของสหกิจศึกษา

                1.  บัณฑิตสหกิจศึกษาได้งานเร็วกว่าและมากกว่าบัณฑิตที่ไม่ได้ร่วมสหกิจศึกษา

                2.  ผู้ประกอบการพอใจคุณภาพบัณฑิตสหกิจศึกษาสูงกว่าบัณฑิตที่ไม่ได้ร่วมสหกิจศึกษา

                3.  สถาบันอุดมศึกษาเห็นว่าผู้ที่ผ่านสหกิจศึกษามีวุฒิภาวะ ความรับผิดชอบ และมีวินัยสูงขึ้น

POST: